การหย่าฝ่ายที่ริเริ่มโดยคู่สมรสฝ่ายเดียวสามารถทำได้หรือไม่? ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่เพียงแต่กำหนดให้การหย่าสามารถทำได้โดยความยินยอมร่วมกันของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายเท่านั้น มาตรา 1516 ยังกำหนด “เหตุหย่า” เอาไว้โดยเฉพาะ ซึ่งคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยกขึ้นเพื่อฟ้องต่อศาลให้พิพากษาหย่าได้ด้วยเช่นกัน ดังนี้
1. เหตุหย่าอันเกิดจากการกระทำของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(1) การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
(2) การประพฤติชั่วจนเป็นเหตุให้เกิดความอับอายขายหน้า ได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
(3) การทำร้ายร่างกายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างร้ายแรง
(4) การจงใจทิ้งร้างอีกฝ่ายไปเกินหนึ่งปี
(5) การไม่ให้ความช่วยเหลือหรืออุปการะตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้เดือดร้อนเกินควร
(6) การทำผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ
2. เหตุหย่าจากคำพิพากษาของศาล
(1) การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปี โดยความเป็นสามีภรรยาจะทำให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
(2) การถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
3. เหตุหย่าเพราะสุขภาพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(1) การเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและมีลักษณะเรื้อรังอันเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
(2) สภาพแห่งกายที่ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล
(3) ความวิกลจริตยากจะหายได้ตลอดเวลาเกินสามปี ถึงขนาดที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันต่อไปได้
4. เหตุหย่าเพราะพฤติการณ์การอยู่ร่วมกันตามความเป็นจริง
(1) การสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขตลอดมาเป็นเวลาเกินสามปี
(2) การแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกินสามปี
นอกจากนี้ “การข่มขืนกระทำชำเรา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสี่เป็นเหตุการณ์ฟ้องหย่าอีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หากการข่มขืนนกระทำชำเราเกิดขึ้นระหว่างสามีภริยา คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาต่อไปและประสงค์จะหย่า สามารถแจ้งต่อศาลและให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องหย่าให้ได้